ทักษะ

ไอเดียดีๆ อาจใกล้ตัวคุณกว่าที่คิด
ไอเดียดีๆ อาจใกล้ตัวคุณกว่าที่คิด
  • ปุ่มปลดล็อค iPhone มาจาก…ห้องน้ำบนเครื่องบิน
  • การออกแบบชินคันเซ็น มาจาก…นกกระเต็น
  • ดีไซน์ตึกที่ระบายความร้อนได้ดี มาจาก…ปลวก
  • การเขียนชื่อลูกค้าบนถ้วยกาแฟ มาจาก…ชื่อบนเสื้อกีฬา

 

เรามักคิดว่า “ไอเดียแสนบรรเจิด” เกิดจากการนั่งถกเถียงวิเคราะห์อันทรงปัญญาในห้องประชุมที่คับคั่งไปด้วยผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์

 

แต่ดังที่เราจะได้รู้กันจากนี้ว่า ความจริงแล้ว “Ideas Are Everywhere.” ไอเดียดีๆ เกิดขึ้นได้รอบตัวเรานี่เอง ตรงนี้เลย เดี๋ยวนี้เลย…ถ้าเรา “สังเกต” มันมากพอ

 

ปุ่มปลดล็อค iPhone

ก่อนที่ iPhone 1 รุ่นแรกจะเปิดตัวเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หนึ่งในฟีเจอร์ที่ยังคิดไม่ออกคือวิธีการ “ปลดล็อค” มือถืออย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว


Freddy Anzures พนักงานของบริษัท Apple ที่อยู่ในทีมพัฒนา กำลังรอคิวเข้าห้องน้ำบนเครื่องบิน เขาเห็น “แถบล็อค” สีแดงตรงหน้าห้องน้ำที่มีผู้ใช้งานอยู่ และเมื่อแถบล็อคเปลี่ยนเป็นสีเขียว คนที่เข้าห้องน้ำเสร็จก็เดินออกมา

ทันใดนั้น เขาเกิด “ยูเรก้า” ทันที และนำไอเดียแถบล็อคห้องน้ำในเครื่องบินมาเป็นปุ่ม “Slide to Unlock” จากซ้ายไปขวาบน iPhone ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดและใช้งานอยู่นับสิบปี (ก่อนเปลี่ยนมาสแกนหน้าตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น)

ชื่อลูกค้าบนถ้วย Starbucks

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว บาริสต้าของ Starbucks คนหนึ่ง สังเกตว่า มูลค่าแฝงของเสื้อกีฬาส่วนหนึ่งมาจาก “ชื่อ” ที่ประทับอยู่ด้านหลังของเสื้อ ไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวเอง หรือ ชื่อนักกีฬาที่ชื่นชอบ (เช่น Ronaldo 7)


เขาจึงเกิดไอเดียเล่นๆ โดยการ “เขียนชื่อลูกค้า” ลงบนถ้วย Starbucks เวลาสั่งเครื่องดื่ม และพบว่ามันเป็นวิธีสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี เรียบง่าย และแทบไม่มีต้นทุนอะไรเลย

บาริสต้าคนนี้ ลองไปเสนอไอเดียแก่บริษัท พบว่าผู้บริหารชอบใจจนซื้อไอเดียนี้ และได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของบริษัทตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา

 

เป็นการสร้างความผูกพันที่มีเอกลักษณ์ ลดการหยิบแก้วผิดเพราะมีชื่อเขียนอยู่ แถมได้ Free Media ที่คาดไม่ถึงจาก “ชื่อที่สะกดผิด” จนลูกค้าเอาไปโพสขำขันกัน

 

รถไฟความเร็วสูง Shinkansen

การสังเกตและเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimicry) ยังเป็นวัตถุดิบความคิดสร้างสรรค์ชั้นดี จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Biologically-inspired Engineering” วิศวกรรมที่ถอดแบบมาจากกลการทำงานของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ

 

ปี 1989 รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นของญี่ปุ่น เจอปัญหาหนึ่งที่ไม่แก้ตกนั่นคือ คลื่นเสียง “Sonic Boom” ที่ดังระเบิดเวลาแล่นออกจากอุโมงค์ด้วยความเร็วสูง จนเสียงดังไปไกลทั่วรัศมีถึง 400 เมตร สร้างความเดือดร้อนและกระทบการใช้ชีวิตของผู้คนโดยรอบ (อุโมงค์มีอยู่ทั่วประเทศ)

 

คุณ Eiji Nakatsu หัวหน้าวิศวกรได้รับหน้าที่ให้แก้ปัญหานี้ แต่คิดคำนวณเท่าไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ซะที มาวันหนึ่ง เขาคลายเครียดด้วยการทำงานอดิเรกประจำนั่นคือการไป “ชมนก”

 

ก่อนจะสังเกตเห็น นกกระเต็น (Kingfisher) ที่มีปากแหลมเฟี้ยว บินด้วยความเร็วสูง และโฉบปลาได้อย่างแม่นยำ แรงบันดาลใจจากนกกระเต็นนี้ถูกนำไปทดลองขึ้นโครงสร้างส่วนหน้าสุดของชินคันเซ็น และพบว่าแก้ปัญหา Sonic Boom ที่ดังเกินไปได้สำเร็จ

ปี 1997 ชินคันเซ็นรุ่น 500-Series เปิดให้บริการแก่สาธารณชน และเป็นรุ่นแรกที่ได้แรงบันดาลใจส่วนต่างๆ มาจากนกกระเต็น 

  • เร็วกว่าเดิม 10%
  • ใช้ไฟฟ้าน้อยลง 15%
  • เสียงดังต่ำกว่ามาตรฐาน 70 เดซิเบล

Image Cr. bit.ly/391fi1l

หลังจากนั้น ชินคันเซ็นรุ่นใหม่ต่อๆ ไปยังใช้แรงบันดาลใจที่มาจากธรรมชาติ เช่น แหนบรับไฟ (Pantograph) ที่ติดตั้งบนหลังคาของตู้รถไฟ