
เรามักจะมีมุมมองแง่ลบว่า “สังคมสูงวัย” (Aging Society) คือ “ภาระ” อย่างหนึ่ง ทั้งในแง่ตลาดแรงงาน / งบประมาณสาธารณสุข / หรือกับดักความกตัญญู
แต่ถ้าเราลองใช้สายตาแบบผู้นำองค์กรที่มองมุมกลับ มองวิกฤติให้เป็นโอกาส มองสิ่งที่(ดูเหมือน)เป็นจุดด้อยให้เป็นจุดแข็ง
บางทีสังคมสูงวัยอาจหมายถึง “ฐานเศรษฐกิจใหม่” เป็นกลุ่มลูกค้าสีเงิน หรือ “Silver Economy” ที่น่าสนใจในทศวรรษที่จะถึงนี้!!
Silver Economy: โอกาสทองจากสังคมสูงวัย
- สังคมสูงวัย หมายถึง ประชากร 10% ของประเทศมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หมายถึง ประชากร 20% ของประเทศมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย มาตั้งแต่ปี 2005 แล้ว และกำลังจะก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีแน่นอน เพราะข้อมูลล่าสุดปี 2019 ประชากรกว่า 17% ของประเทศมีอายุ 60 ปีขึ้นไปแล้ว
แนวโน้มโครงสร้างประชากรนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เกิดขึ้น “ทั่วโลก” เนื่องมาจากอานิสงส์ “อายุขัยเฉลี่ย” ที่เพิ่มขึ้น
- ปี 1990 อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกอยู่ที่ 64 ปี
- ปี 2019 อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกอยู่ที่ 72 ปี
- ขณะที่ปี 2050 อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 77 ปี
(และเป็นที่รู้กันดีว่า ในหมู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อายุขัยเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 80 ปี+ เข้าไปแล้ว)
นอกจากนี้ เราต้องไม่ลืมว่าในหมู่นักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของโลก เช่นคุณ David A. Sinclair ผู้เขียนหนังสือเขย่าวงการแพทย์อย่าง Lifespan ยอมรับแนวคิดนี้แล้วว่า “ความแก่เป็นโรคภัยอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นโรค…จึงรักษาหายได้” (Aging is a disease. Disease is treatable.)
ในอนาคต การที่คนๆ หนึ่งมีอายุ 100 ปีจะเป็นเรื่องธรรมดา แถมร่างกายและสมองยังแข็งแรงเหมือนอายุ 50 ปี สังคมสูงวัยจึงจะกลายเป็นตลาดใหญ่แน่นอน
โดยปัจจุบัน ทั่วโลกมีคนสูงวัยกว่า 700 ล้านคน…แล้วพวกเค้าอยู่ที่ไหนบ้าง?
- เอเชียตะวันออก & เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 260 ล้านคน
- ยุโรป & สหรัฐอเมริกา 200 ล้านคน
จะเห็นว่าตลาดใหญ่อยู่ “ใกล้บ้าน” พวกเรานี่เอง
ทำไมกลุ่มผู้สูงวัยถึงมีโอกาสซ่อนอยู่?
เราต้องละทิ้งภาพจำในอดีต และมองความจริงในคนสูงวัยยุคนี้…พวกเค้าอายุเยอะก็จริง (Chronological age แก่แล้ว) แต่ร่างกายไม่ได้เสื่อมตาม (Biological age ยังหนุ่มสาวอยู่)
เฉกเช่นคนวัยอื่น พวกเค้ายังคงต้องการสังคม / ไลฟ์สไตล์ / ความสัมพันธ์ / สินค้าบริการดีๆ และที่สำคัญ ส่วนใหญ่มี “กำลังซื้อ” สูงกว่าคนเจนอื่น พร้อมใช้จ่ายอย่างมีคุณภาพในชีวิตบั้นปลาย
นำมาสู่ “โอกาสเศรษฐกิจ” จากสังคมสูงวัย ซึ่งครอบคลุมหลากหลายมิติในชีวิต เช่น ที่อยู่อาศัย / บริการสุขภาพ / ขนส่งสาธารณะ / ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ / ประกันชีวิต / หุ่นยนต์ดูแล / ศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงวัย / เสื้อผ้า / เครื่องสำอาง / สถานที่ออกกำลังกาย
และสิ่งหนึ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ได้ ก็คือ “GeronTechnology”
Gerontechology เทคโนโลยีที่สร้างมาเพื่อตอบโจทย์ผู้สูงวัย
จากโอกาสของผู้สูงวัย นำมาสู่การคิดค้นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า “Gerontechnology”
Gerontechnology เป็นการดัดแปลงเทคโนโลยีที่มีอยู่ และ ออกแบบสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงวัยโดยเฉพาะ
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาสามารถผลิตสินค้ากว่า 40,000 รายการ ภายใต้ Gerontechnology นี้แล้ว
โจทย์ของ Gerontechnology จึงเป็นการมองสิ่งที่มีอยู่ แล้วปรับให้เข้ากับผู้สูงวัย
- เครื่องใช้ไฟฟ้า…สำหรับผู้สูงวัย?
- ที่อยู่อาศัย…สำหรับผู้สูงวัย?
- ครัวโลก…ของผู้สูงวัย?
- นวด&สปา…เพื่อผู้สูงวัย?
สังคมสูงวัย และ Gerontechnology
บริษัท Softbank จากญี่ปุ่น ผลิตหุ่นยนต์ชื่อว่า “Pepper” คอยดูแลผู้สูงวัยที่บ้าน มีระบบ Machine Learning ในตัว สามารถอ่านสีหน้ามนุษย์และตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้
Image Cr. bit.ly/3FZk0Mr
บริษัท Rendever สร้าง “แว่นตา VR” ขึ้นมาเพื่อผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ผู้ใช้งานสามารถค้นหาเรื่องราวความทรงจำเก่าๆ หรือเชื่อมต่อหาเพื่อนฝูงญาติพี่น้องได้ทุกที่ ตัวเครื่องยังออกแบบให้ปรับแต่งเพิ่มประสิทธิภาพเสียง / ความคมชัด / สรีระ เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขร่างกายที่จำกัด
Image Cr. bit.ly/3aWy8rj
จังหวัด Akita ในประเทศญี่ปุ่น มีผู้สูงวัยคิดเป็นกว่า 30% ของทั้งจังหวัด ถือว่าสูงอันดับต้นๆ ของโลก (Top5 จังหวัดในเมืองไทยที่มีผู้สูงวัยมากที่สุด ยังมีสัดส่วนเพียง 15-16% เท่านั้น)
ทั่วทั้งเมืองจึงพบเห็นหลักการออกแบบ “Universal Design” เป็นการออกแบบที่คำนึงถึง “ผู้ใช้งานทุกกลุ่ม” (Inclusive society) ให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่คนแข็งแรงยันไปถึงคนพิการนั่งวีลแชร์
เกิดธุรกิจใหม่ “Share House” รูปแบบบ้านที่ให้ผู้สูงวัย “อยู่ร่วม” กับผู้เช่าที่จ่ายราคาต่ำกว่าตลาด จึงเกิดการ Mix กันระหว่างเจเนอเรชั่นและความเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน Win-Win ทุกฝ่าย เช่น
- บ้านที่ให้เด็กจบใหม่ที่รายได้ยังน้อยมาอยู่ แต่มีเงื่อนไขต้องช่วยเหลืองานบ้านหลัก
- บ้านที่รวมแม่เลี้ยงเดี่ยวมาอยู่ร่วมกัน
Image Cr. bit.ly/3AUkLCE
หรือ Developer คอนโด ที่ออกแบบด้วยคอนเซปท์ “Stepless Design” ทุกห้องเชื่อมถึงกันหมดโดยปราศจาก “ขั้นบันได” ป้องกันการลื่นล้ม (สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในคนแก่) รวมถึง ราวจับในแต่ละจุด และ สายสัญญาณฉุกเฉินขอความช่วยเหลือ
บางครั้ง อาจไม่ต้องมีเทคโนโลยี Gerontechnology อันล้ำหน้าเสมอไป แต่เพียงเป็นการมองในมุม “พฤติกรรมผู้สูงวัย” เช่น
- ATM ทำแป้นกดใหญ่ขึ้น และ มีที่วางไม้เท้า
- Supermarket ที่เขียนป้ายราคาขนาดใหญ่มหึมา เพื่อคนแก่ที่สายตาเลอะเลือน
เราจะเห็นว่า “โอกาส” ความเป็นไปได้มีอยู่มหาศาลสุดแท้แล้วแต่จินตนาการความสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ ขอเพียงด่านแรกต้องเลิกมองพวกเค้าเป็นภาระเสียก่อน เมื่อนั้น…โอกาสทางธุรกิจและสังคมที่ดีกว่าเดิมก็รออยู่ตรงหน้า
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- หนังสือ เศรษฐกิจสามสี - เศรษฐกิจแห่งอนาคต โดย รศ.ดร. วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร
- https://medtechboston.medstro.com/blog/2018/05/22/top-5-gerontechnology-products-to-increase-social-engagement-for-seniors/
- https://www.thegerontechnologist.com/
- https://www.forbes.com/sites/vinettaproject/2016/09/20/the-next-hottest-thing-in-silicon-valley-gerontechnology/?sh=70a2f8523abe