Authority Bias: โปรเจคท์ล่มเพราะ “นายสั่งมา”

Authority Bias: โปรเจคท์ล่มเพราะ “นายสั่งมา”
  • ก็ไม่ได้อยากทำหรอกแต่ “นายสั่งมา”
  • ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยหรอก แต่เค้าเป็น “CEO” เชียวนะ
  • ก็ตะขิดตะขวงใจอยู่นะ แต่หัวหน้ามี “ประสบการณ์” มากกว่า

แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ยินดีทำเออออไปเพราะอีกฝ่ายอยู่ในสถานะที่สูงกว่าหรือมีอะไรบางอย่างเหนือกว่า…นี่คือกับดักที่เรียกว่า “Authority Bias”

Authority Bias: โปรเจคท์ล่มเพราะ “นายสั่งมา”

Authority Bias ถูกนิยามขึ้นโดยคุณ Stanley Milgram นักจิตวิทยาด้านสังคมชาวอเมริกัน เขากล่าวว่ามันคือภาวะตกหลุมพรางทางความคิดที่อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนาน 

โดยเรามักหลงเชื่อว่าบรรดา “ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งหลาย “รู้ดี” กว่าเราไปเสียทุกอย่าง จนพวกเค้ามีอำนาจและอิทธิพล (Authority) ในการชักจูงความคิดของคุณได้อย่างง่ายดาย จนปราศจากการ “ตั้งคำถาม” หรือสำรวจความคิดว่ามัน Make Sense หรือไม่

Authority ในที่นี้ ไม่ได้มาจากตำแหน่งเท่านั้น (เช่น CEO) แต่ยังมาจาก การได้รับความนิยมชมชอบหรือเป็นที่เคารพเทิดทูนจากผู้คนก็ได้ (เช่น ดาราชื่อดัง) หรือ ผลงานประสบความสำเร็จ (เช่น เศรษฐีหน้าใหม่)

Authority Bias เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เรามักจะรู้สึกได้ว่า “คำสั่ง” จากผู้มีอำนาจ มันช่างทรงพลังและยากจะขัดขืนใจตัวเองได้เหลือเกิน (แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม)

เรื่องนี้มีคำอธิบายด้าน “วิวัฒนาการ” อดีตกาล มนุษย์อยู่เป็นเผ่า โดยมีระดับชั้นสถานะชัดเจน (Hierarchy) ผู้นำสั่งการอะไร ลูกน้องต้องทำตาม ลูกน้องคนไหนที่มีพฤติกรรม “ว่านอนสอนง่าย” นายสั่งอะไรมาก็ทำตาม มักจะได้รับการตอบแทนเลี้ยงดูอย่างดีและมีโอกาสมีชีวิตรอดมากกว่า พฤติกรรมนี้จึง “ถูกคัดเลือก” มา

ส่วนคำอธิบายด้านพัฒนาการทาง “สังคม” คือ ยุคสมัยก่อน กลุ่มคนที่มี Authority เช่น กษัตริย์ / ขุนนาง / ผู้ปกครองเมือง เป็นกลุ่มคนเพียงหยิบมือที่นำพาประเทศชาติ ยังไม่นับว่า คนที่มีความรู้ “อ่านออกเขียนได้” มีจำนวนน้อยมากๆ กลุ่มคนที่มี Authority จึงได้รับการยอมรับสูง

เพียงแต่ยุคปัจจุบัน ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว แทบทุกคนอ่านออกเขียนได้ เข้าถึงองค์ความรู้ได้กว่าสมัยก่อนมหาศาล คนธรรมดาก็มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ให้ประเทศได้…เพียงแต่โครงสร้างทางสังคมดั้งเดิมนี้ยังคงหยั่งรากลึกอยู่

Authority Bias ในหลากหลายธุรกิจ

นักลงทุนใน “ตลาดหุ้น” มักเชื่อมั่นสนิทใจจากคำวิเคราะห์ของเหล่า “กูรู” การเงินที่ออกมาวิเคราะห์ตลาด แม้ว่าข้อมูลจะมีพื้นฐานที่สมเหตุสมผล แต่เป็นที่รู้กันดีว่าในหลายกรณี ตลาดหุ้นก็ยากที่จะคาดเดาได้อย่างแม่นยำ ดังเช่น Hamburger Crisis เมื่อปี 2008 

“นายสั่งมา” บางครั้งลูกน้องเผลอทำตามคำสั่งของหัวหน้า โดยไม่ได้ฉุกคิดตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลหรือถูกหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ เพียงเพราะเค้าเป็น “หัวหน้า” ตำแหน่งสูงกว่า มีประสบการณ์มากกว่า อาวุโสกว่า

การตัดสินใจในที่ประชุม มักกระจุกอยู่กับเหล่า “HIPPO”  (Highest Paid Person’s Opinion) คือ การตัดสินใจสำคัญจริงๆ มักมาจากกลุ่มคนที่มีรายได้สูง โดยตัด (exclude) กลุ่มลูกน้องระดับล่างออกไป และลูกน้องระดับล่าง “กลับเห็นดีเห็นตาม” เพียงเพราะตำแหน่ง HIPPO สูงกว่า

โฆษณาผลิตภัณฑ์ด้านเวชภัณฑ์หรือเครื่องสำอาง มักใช้ “หมอ” ในชุดกาวน์สีขาว แต่งตัวเรียบร้อยสะอาดสะอ้านมาพูดสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งในหลายกรณี หมอเหล่านั้นก็คือ “นักแสดง” คนหนึ่งที่จ้างมาเล่นโฆษณา ไม่ได้มีใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์แต่อย่างใด แต่ผู้ชมก็มักคล้อยตามได้อย่างง่ายดาย

นักศึกษาอาจไขว้เขวกับความมุ่งมั่นในการเรียน เมื่อได้ยินรุ่นพี่ที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จและประวัติการศึกษาว่า “ไม่ต้องจบมหาวิทยาลัย…ก็ประสบความสำเร็จได้” 

โดยลืมฉุกคิดว่า คนกลุ่มนี้เป็นส่วนน้อยมากในทุกสังคม และตัวอย่างคนที่ดรอปเรียนกลางคันเพื่อออกไปทำธุรกิจจนสำเร็จ (เช่น Mark Zuckerberg) มักมีหนทางธุรกิจที่ชัดเจนอยู่แล้ว เป็นอัจฉริยะกว่าคนทั่วไป มีคุณสมบัติเก่งเพียบพร้อมแล้ว

วิธีป้องกัน Authority Bias

อย่างแรก ต้องควบคุม “อารมณ์” ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นก่อน เพราะ Authority Bias มักมาควบคู่กับอารมณ์

  • เกิดแรงบันดาลใจ เพราะ คนสำเร็จชักชวน
  • น่าเชื่อถือ เพราะ ดารารีวิวครีม
  • เกรงกลัว เพราะ นายสั่งมา

ก่อนใช้ตรรกะเหตุผล (Logical thinking) ค่อยๆ คิดแยกแยะตามความเป็นจริง จุดประสงค์ไม่ใช่การ “ปฏิเสธ” ความคิดนั้น แต่แค่ทำการสืบสวนความถูกต้อง

  • ดาราอาจผิวพรรณดีอยู่แล้วจึงมารีวิวครีม ต่อให้ใช้ครีมยี่ห้ออื่นก็ยังผิวดี
  • หัวหน้าสั่งมา ไม่ใช่เพราะสมเหตุสมผล แต่อาจเพราะเค้าเองก็ถูกสั่งมาอีกที

แม้จะสมเหตุสมผลทุกอย่าง แต่ให้พิจารณาว่ามันเกิดจากภาวะ Survivorship Bias คนสำเร็จที่เห็นเป็นแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” (ข้อยกเว้น) หรือไม่?

  • คนที่ชักชวนให้ลงทุนสุดตัวกับ Cryptocurrency ต่างๆ เป็นเพียงผู้ชนะไม่กี่คนท่ามกลางตลาดที่ผันผวนหรือไม่?

อีกวิธีหนึ่งที่สะดวกในการท้าทาย Authority Bias คือ ให้ลองคิดว่า ถ้าคำแนะนำ-คำสั่งนั้น…ได้มาจากคนอื่นที่ “ไม่มี Authority” คุณจะยังเชื่อและทำตามโดยไม่ขัดขืนอยู่หรือไม่?

  • ถ้าคำแนะนำให้ซื้อหุ้น มาจากกูรูวัยเยาว์ (ไม่ใช่อาวุโส) คุณจะยังซื้อไหม?
  • ถ้าคำสั่งที่แลดูไร้จรรยาบรรณ มาจากเพื่อนร่วมงาน (ไม่ใช่หัวหน้า) คุณจะต่อต้านไหม?                    

สุดท้ายแล้ว Authority Bias จะยังไม่หายไปไหน เพราะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวิวัฒนาการและสังคมของมนุษย์ แต่ถ้าเราตระหนักรู้ รอบคอบระมัดระวัง ก็ช่วยให้เข้าใจอะไรกระจ่างชัดขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องในที่สุด

 

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง

#Authority Bias #Decision Making #Business Psychology #Cognitive Bias #Work Hierarchy
Writer: