Appeal to Authority: ตรรกะวิบัติด้วยการอ้างเหล่ากูรู

Appeal to Authority: ตรรกะวิบัติด้วยการอ้างเหล่ากูรู
  • “รมต.สาธารณสุขบอกว่า วัคซีนจะเพียงพอและมาทันเวลา”
  • “CEO อาวุโสท่านหนึ่งเคยบอกว่า โควิดจะอยู่แค่ 1 ปี”
  • “เขามีชื่อเสียง ใครๆ ก็ชอบ…เราก็น่าจะไว้ใจเค้าได้”
  • “…แต่เขาเป็นถึงด็อกเตอร์เชียวนะ”

แม้คุณจะไม่เห็นดีงามกับอีกฝ่ายนัก แต่สุดท้ายก็สมยอมเพียงเพราะตำแหน่ง ชื่อเสียง สถานะของอีกฝ่าย

…ระวังให้ดี คุณติดกับดัก “Appeal to Authority” เข้าอย่างจังแล้ว!!

Appeal to Authority: ตรรกะวิบัติด้วยการอ้างเหล่ากูรู

Appeal to Authority คือการฉกฉวยผลประโยชน์ด้วยการใช้ ตำแหน่ง / ยศ / ชื่อเสียง / ประสบการณ์ / อำนาจ / หรือความเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มี เพื่อบิดเบือนข้อมูลหรือโน้มน้าวใจอีกฝ่าย 

โดยปราศจากการพิจารณาถึง 

  • ความสมเหตุสมผล 
  • ความสามารถที่แท้จริง 
  • ผลงานความสำเร็จที่ประจักษ์ 
  • หรือแม้แต่การตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์

ซึ่งสุดท้ายมักนำคุณไปสู่ปัญหาใหม่หรือพบกับการตัดสินใจที่ผิดพลาด

ทำไมได้ยินแล้วช่างดูเย้ายวนใจ?

Appeal to Authority มักมีกลิ่นอายความ “น่าเชื่อถือ” ณ แว่บแรกที่ได้ยิน เพราะชื่อเสียงคุณสมบัติความเป็นกูรู / ตำแหน่ง / ยศถาบรรดาศักดิ์…แต่มันก็ไม่เสมอไป เพราะกูรูเองก็ไม่ได้รู้ครอบคลุมทุกเรื่อง และไหนจะอคติส่วนตัวที่เกิดขึ้นได้

สังคมแบบ “อำนาจนิยม” (Powerism) ซึ่งมีระดับชั้นทางสังคม และ การปฏิบัติแบบอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อาวุโสกว่าอย่างแข็งขัน จะมีโอกาสตกเป็นเป้าโจมตีจาก Appeal to Authority สูงเป็นพิเศษ 

ในทางปฏิบัติ มักเป็นกลลวงที่ “ฝ่ายผู้มีอำนาจ” ใช้กับผู้ไม่มีอำนาจหรืออยู่ใต้บังคับบัญชา เพราะทรงพลังมากกว่า ภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือกว่า

Appeal to Authority รอบตัวเรา

คำพูดทำนอง “เชื่อพี่เถอะ…พี่ผ่านมาเยอะแล้ว” คือตัวอย่างสุดคลาสสิกที่เจอในทุกวงการ เพราะแม้จะมีประสบการณ์ผ่านมาเยอะ แต่ประสบการณ์ในอดีตนั้นอาจไม่เกี่ยวข้องหรือสลักสำคัญ (Irrelevant) ต่อสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว

บรรดากูรูไลฟ์โค้ชที่ออกมา “ชี้ช่องทางรวย” จนผู้คนเคลิบเคลิ้มใจว่าถ้าปฏิบัติตาม ก็น่าจะสำเร็จได้เช่นกัน แต่ความจริงแล้ว ทุกคนต่างมีบริบทชีวิต / อุตสาหกรรมที่อยู่ / สถานการณ์ที่แตกต่างกัน…จนไม่สามารถเลียนแบบได้ง่ายๆ

ใน “วงการโฆษณา” คืออีกสถานที่เกิด Appeal to Authority อันทรงพลังจากบรรดานักกีฬาระดับโลก / นักแสดงมากเสน่ห์ / นายแบบ-นางแบบหน้าตาดี…รองเท้ากีฬาบางยี่ห้อถูกยกให้เป็นรองเท้าที่ดีที่สุดในโลก เพียงเพราะนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จสวมใส่ขณะแข่ง (และกล่าวเอ่ยถึง)

ช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ มี CEO อาวุโสบางคนกล่าวว่า เป็นเพียงวิกฤติระยะสั้น 1-2 ปีเท่านั้น ส่วนระยะกลาง-ยาว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง…แม้ 1-2 ปีผ่านมา หลายแห่งจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว แต่โควิด-19 ได้ Disrupt พื้นฐานหลายอย่างจนเปลี่ยนไปตลอดกาล

รัฐมนตรีสาธารณสุขประกาศออกสื่อต่อประชาชนว่า วัคซีนโควิด-19 จะมาทันเวลาและเพียงพอต่อทุกคนแน่นอน จนสร้างความหวังครั้งใหญ่ให้ประชาชน เพราะเห็นว่า “เค้าเป็นถึงรมต.เชียวนะ”

วิธีป้องกัน-ดูให้ออก

ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของเหล่ากูรูในสาขาต่างๆ มักเย้ายวนจนน่าคล้อยตาม เป็นเรื่องยากที่จะห้ามตัวเองไม่ให้รู้สึกแบบนั้นได้ แต่…เราห้ามตัวเองให้หยุดและ “ฉุกคิด” หลังจากนั้นได้

  • แม้เป็นถึงรมต.สาธารณสุข แต่ที่ผ่านมา วัคซีนไม่พอและมาถึงล่าช้าตลอด

ในเมื่อไม่มีใครเก่งไปหมดทุกเรื่อง ให้ลอง “วิพากษ์วิจารณ์” (Critical analysis) ความเป็นกูรูคนนั้นให้ลึกขึ้น อาจพบว่า คำแนะนำนั้นไม่น่าจะประยุกต์ใช้กับคุณได้โดยตรง

  • คำแนะนำการทำธุรกิจของ CEO คนนั้น มาจากการได้อานิสงส์บวกจากโควิด-19 (อยู่ใน K-shaped recovery ขาขึ้น) แต่ธุรกิจคุณได้รับผลขาลงเต็มๆ คำแนะนำนั้นจึงไม่น่าประยุกต์ใช้ได้ซักเท่าไร

Appeal to Authority จะยังคงอยู่กับเราไป เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ให้ค่ากับ “ตัวบุคคล” เป็นส่วนหนึ่งของสัญชาตญาณไปแล้ว

แต่ถ้าเรายกระดับการใช้ “ตรรกะเหตุผล” คิดหน้าคิดหลังซะบ้าง สงสัยมากขึ้นหน่อย วิเคราะห์เชิงลึกขึ้นอีกที ก็น่าจะทำให้เรามี “ภูมิคุ้มกัน” ไม่โดนหลอกเอาได้ง่ายๆ 

 

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง

#Appeal To Authority #Logical Fallacy #Powerism
Writer: