Ad Hominem: ด้อยค่า “คนพูด” จนเพิกเฉยเนื้อหาสาระ

Ad Hominem: ด้อยค่า “คนพูด” จนเพิกเฉยเนื้อหาสาระ
  • “เป็นแค่เด็กจบใหม่ ทำไมถึงกล้าค้านผู้ใหญ่แบบนี้?”
  • “ไอเดียก็ดีนะ แต่เธอไม่ได้เรียนจบด้านนี้มาโดยตรงนี่?”
  • “คุณหมอวางโปรแกรมลดความอ้วนให้ผม ทั้งๆ ที่ตัวหมอเองก็อ้วนลงพุงเนี่ยนะ?”

ถ้าคุณกำลังถูกกระทำ หรือพบเห็นการกระทำแบบนี้อยู่ ระวังให้ดี นั่นอาจเป็นสัญญาณของ “Ad Hominem” 

Ad Hominem: ด้อยค่า “คนพูด” จนเพิกเฉยเนื้อหาสาระ

Ad Hominem (รากศัพท์มาจากภาษาลาติน) คือภาวะตรรกะวิบัติ ที่เราจะเผลอด้อยค่า “ตัวคนพูด” (Person) จนละเลย “เนื้อหา” (Issue) ที่เค้าต้องการสื่อสาร

โดยเฉพาะถ้าตัวคนพูดมี “จุดอ่อน” ที่เป็นข้อบกพร่อง-ข้อด้อย-ข้อกังขา บางอย่างเกี่ยวกับเนื้อหาที่พูด จุดอ่อนนั้นจะถูกยกขึ้นมา “เกทับ” เนื้อหาสาระไป

Ad Hominem ยังเป็นกลยุทธ์ในการ “โจมตีตัวบุคคล” แทนที่จะโจมตีข้อโต้แย้งหรือเนื้อหาสาระ เรื่องนี้อันตรายมากเพราะทำให้เกิดอคติโดยตรง บิดเบือนความจริง ด้อยค่าข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จนสุดท้ายมักนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด

ทำไมจึงเกิด Ad Hominem?

มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะดัดแปลงสิ่งต่างๆ ให้เป็น “บริบทตัวบุคคล” (Personification) เนื้อหาที่พูด จึงไม่ใช่แค่เนื้อหาเพียวๆ แต่จะเชื่อมโยงกับคุณสมบัติตัวคนพูดเสมอ (ทำงานนอกจิตสำนึก)

นี่ยังเป็นเบื้องหลังว่าทำไมเทคนิค Storytelling ถึง “โน้มน้าวใจ” ผู้ฟังได้มากกว่าการอธิบายเป็นตรงไปตรงมา

และอย่างที่กล่าวไปมันคือส่วนหนึ่งของ “ตรรกะวิบัติ” คนๆ หนึ่งอาจเชื่อมโยงตรรกะมั่วๆ ซั่วๆ และด่วนสรุปว่าเป็นความจริงที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปถึง “CEO Influencers” (bit.ly/3lfdOaN) ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมการทำงาน ผู้คนมักเชื่อมโยงไอเดียบรรเจิดเข้ากับตัวผู้นำองค์กร 

กล่าวคือ ไอเดียสุดเลิศมักถูกป่าวประกาศนำเสนอให้โลกรับรู้ผ่านตัวผู้นำองค์กร (เช่น งานเปิดตัวสินค้า) ถ้าไอเดียสุดเลิศอันเดียวกัน ถูกนำเสนอโดยคนโนเนมคนหนึ่งในองค์กร ก็มักถูกมองข้ามเพิกเฉย

ตัวอย่าง Ad Hominem รอบตัวเรา

เด็กจบใหม่ยกมือกลางที่ประชุมใหญ่เสนอแนะไอเดียอันน่าสนใจที่อาจนำไปปรับปรุงกระบวนการทำงานได้ แต่กลับถูกผู้ใหญ่เบรคว่ายัง “ไร้ประสบการณ์” ในการทำงาน (จุดอ่อน) ไอเดียที่เสนอมาทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติหรอก

เมื่อมาคิดดูแล้ว การที่เด็กจบใหม่ไร้ประสบการณ์ ก็ไม่ได้หมายความว่า ไอเดียที่เสนอแนะจะทำไม่ได้จริง สิ่งที่ควรทำคือ โฟกัสที่เนื้อหาสาระ มากกว่า ตัวเด็กจบใหม่ต่างหาก

คุณหมอท่านหนึ่งกำลังออกแบบ “โปรแกรมลดความอ้วน” ให้แก่ผู้ป่วยโรคอ้วนที่เข้ารับการรักษา แต่ผู้ป่วยปฏิเสธและตั้งคำถามกลับว่า ทำไมเค้าต้องทำตามคำแนะนำด้วยในเมื่อตัวคุณหมอเองขณะนี้ก็อ้วนลงพุงน้ำหนักเกินมาตรฐาน? 

ทั้งนี้ ตัวหมอเองเป็นคนที่มีองค์ความรู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สามารถให้คำแนะนำที่ถูกหลักการแพทย์ในการควบคุมน้ำหนักได้จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวคุณหมอจะนำไปปฏิบัติจริง (เช่น ยุ่งมากจนไม่มีเวลาออกกำลังกาย)

ในทางการเมือง แม้ว่า “เสียง” ของคนบางกลุ่มจะมีอุดมการณ์ความคิด (Ideology) ที่น่าสนใจ…แต่ก็อาจถูกด้อยค่าได้อย่างง่ายดายเพียงเพราะฝั่งที่เค้าอยู่

  • อย่าไปเชื่อคนนั้นเลยเพราะเค้าเป็น “สลิ่ม”
  • อย่าไปเชื่อคนนั้นเลยเพราะเค้าเป็น “สามกีบ”

สิ่งที่ควรทำคือ วางเรื่องขั้วการเมืองลงไปก่อน แล้วมาพิจารณาถกเถียงกันที่เนื้อหา

หรือตัวอย่างในชีวิตประจำวัน พ่อสอนลูกที่กำลังเป็นวัยรุ่นว่า “อย่าสูบบุหรี่” เลยเพราะไม่ดีต่อร่างกายในระยะยาว แต่ลูกสวนกลับมาว่า ตัวพ่อเองก็เคยสูบสมัยเป็นวัยรุ่น

แม้ตัวพ่อจะสูบหรือไม่สูบ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า การสูบบุหรี่ไม่ดีต่อร่างกาย (ซึ่งมีผลยืนยันทางวิทยาศาสาตร์มากมาย)

วิธีป้องกัน Ad Hominem

กรณีเป็นคนพูด ฝึกตัวเองให้มี “ความสามารถในการมองข้าม” ข้อบกพร่องของอีกฝ่าย และโฟกัสที่เนื้อหาสาระซึ่งเป็นแก่นสำคัญ โดยเฉพาะยุคนี้คือยุคของ Diversity & Inclusion ธุรกิจเชื่อว่าจะยิ่งแข็งแกร่งเมื่อมีผู้คนอันหลากหลายซับซ้อนทางความคิด

กรณีเป็นคนฟังและถูกโจมตี ทางออกหน้างานคือ คุณต้องให้ “เหตุผลที่ฟังขึ้น” ว่า คำพูดโจมตีตัวคุณกับเนื้อหาที่คุณเสนอ เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง (Unrelated) โดยสิ้นเชิง

ในเชิงปัจเจกบุคคล เมื่อรู้แล้วว่ามนุษย์มีแนวโน้มจะเกิด Ad Hominem (ถ้าเป็นไปได้) ก่อนจะพูดหรือเสนอแนะอะไร ตัวเราเองที่พูดก็ควรต้องทำอย่างนั้นให้ได้ระดับนึงก่อน…ทั้งนี้ การ “รักษาภาพลักษณ์” ให้ดูดีสม่ำเสมอก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

เมื่อเรารู้เท่าทัน Ad Hominem เราจะมองข้ามเปลือกใบหน้าหรือตัวบุคคล และลงเข้าไปถึงเนื้อหาสาระและจิตใจ ซึ่งนั่นจะทำให้เข้าใจและพบกับความจริงในที่สุด

 

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง

#Ad Hominem #Logical Fallacy #Personification #CEO Branding
Writer: